รู้จักระบบรถเมล์ในโซล มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีการใช้บริการให้คุ้มค่า
สำหรับใครที่มีแพลนจะไปท่องเที่ยวกรุงโซล เกาหลีใต้ การเดินทางด้วยรถเมล์ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่สะดวกสบาย ช่วยให้เราเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ดีไม่แพ้กับการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเลย อีกทั้งเรายังสามารถใช้บัตรโดยสาร T-Money ในการแตะเพื่อจ่ายค่าบริการได้อย่างง่ายๆ ทั่วประเทศเลยอีกด้วย ในบทความนี้จะขอพาไปทำความรู้จักระบบรถเมล์ในกรุงโซลว่ามีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และจะพาไปแนะนำวิธีการใช้บริการรถเมล์ในเกาหลีอย่างไรให้คุ้มค่ากันครับ
รถเมล์ในโซลมีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร?
ระบบรถเมล์โดยสารที่วิ่งในเมืองกรุงโซลจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1.Airport Bus
Airport Bus หรือ 공항버스 กงฮังบอซึ หรือที่บางคนอาจจะเรียก Airport Limousine Bus คือรถบัสที่วิ่งให้บริการระหว่างเมืองและสนามบินในโซล ทั้งสนามบินกิมโพ (Gimpo International Airport) และสนามบินอินชอน (Incheon International Airport) ซึ่งการนั่งรถบัสจากเมืองไปสนามบินหรือจากสนามบินเข้าเมืองนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีการเดินทางที่แสนจะสะดวกสบาย เพราะเราไม่ต้องลากกระเป๋าไปมา สามารถโหลดกระเป๋าเข้าใต้ท้องรถและขึ้นไปนั่งสบายๆ บนรถได้เลย แถมที่นั่งยังมีขนาดค่อนข้างกว้าง นั่งสบายสุดๆ ครับ
2. Express Bus
Express Bus หรือ 광역버스 ควังหยอกบอซึ คือรถเมล์ที่วิ่งให้บริการแบบวิ่งขนส่งผู้โดยสารจากใจกลางเมืองเข้าและออกไปนอกเมืองในเขตปริมณฑลของกรุงโซลโดยวิ่งขึ้นทางด่วน รถเมล์ประเภทนี้จะมีสีแดง และสายรถเมล์จะมี 4 หลักนะครับ เช่นสาย 9401 วิ่งจาก Seoul Station ไปยังเมือง Seongnam เป็นต้น รถเมล์ประเภทนี้จะ fix ที่นั่งไม่มีการอนุญาตให้ยืนบนรถเมล์ และที่หน้าจอหน้ารถจะมีตัวเลขบอกที่นั่งว่างที่เหลือบนรถ ซึ่งถ้าที่นั่งเต็มก็จะต้องรอนั่งคันถัดไปแทนนะครับ
3. Blue Bus
Blue Bus หรือ 간선버스 คันซอนบอซึ รถเมล์สีน้ำเงิน หรือบางคนจะเรียก Trunk Bus เป็นรถเมล์ที่วิ่งในบริการในตัวเมืองกรุงโซล รถเมล์ประเภทนี้จะวิ่งระยะกลางถึงระยะไกลในเขตเมือง รถเมล์ประเภทนี้จะค่อนข้างตรงเวลาและวิ่งตามรอบของระยะทางค่อนข้างดี โดยหมายเลขสายรถเมล์จะมีสามหลัก หลักแรกแสดงขึ้นเขตที่เริ่มออกเดินทาง ตัวเลขที่สองคือเขตที่ปลายทางของสายนี้ และเลขหลักสุดท้ายคือเลข Bus ID (0–9) ของแต่ละสายนั่นเอง
นี่คือแผนที่การแบ่งเขตพื้นที่ในกรุงโซล เช่นรถเมล์สีน้ำเงินหมายเลข 704 ก็คือเริ่มออกเดินทางจากโซน 7 คือย่านอึนพยอง มาโพ ซอแดมุน ไปยังโซน 0 ก็คือจงโน จองกู ยงซาน และก็ตามด้วยเลขสายรถเมล์ สาย 4 รวมเป็น 704 เป็นต้น อ่านตีความเข้าใจสายรถเมล์ได้ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ
ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นรถเมล์สีน้ำเงินเริ่มให้บริการด้วยรูปแบบรถเมล์ไฟฟ้า หรือ EV Bus หลายสายแล้วนะครับ ถ้าใครที่ไปโซลในช่วงปี 2022–2023 จะเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยลดมลพิษในเมืองได้ดีเลย สนับสนุนครับ
4. Green Bus
Green Bus หรือ 지선버스 ชีซอนบอซึ รถเมล์สีเขียว หรือบางคนจะเรียกว่าเป็น Branch Bus จะเป็นรถเมล์ที่วิ่งในเมืองเช่นเดียวกับสีน้ำเงิน แต่หน้าที่ต่างกันคือ รถเมล์สีเขียวจะคอยทำหน้าที่เป็น Feeder คอย Transfer ผู้โดยสารจากรถเมล์สีน้ำเงิน สีแดงกับสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ในเมืองเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด หมายเลขสายรถเมล์สีเขียวนั้นจะมี 4 หลักด้วยกัน ประกอบด้วย เขตเริ่มต้น + เขตปลายทาง และ Bus ID 2 หลัก (11–99) เช่น
รถเมล์สีเขียวคันนี้สาย 5712 ก็คือเริ่มต้นจากเขต 5 ทงจัก วิ่งไปยังเขต 7 คืออึนพยอง มาโพ และมี Bus ID = 12 รวมกันเป็น 5712 นั่นเอง
ปัจจุบันรถเมล์สีเขียวก็เริ่มมีให้บริการด้วยรถที่เป็น EV Bus เช่นเดียวกับรถเมล์สีน้ำเงินแล้วเช่นกันครับ
5. Circular Bus
Circular Bus หรือ 순환버스 ซุนฮวันบอซึ เป็นรถเมล์ที่ตามชื่อเลยคือวิ่งเป็นวงกลมเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองชั้นในของกรุงโซล ตัวรถสมัยก่อนจะใช้สีเหลืองแต่เนื่องจากเกรงว่าจะสับสนกับสีของรถโรงเรียนที่ใช้สีเหลืองเหมือนกัน ทำให้ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้เป็นรถสีเขียวอ่อนแทน และใช้รถเมล์ไฟฟ้าในการให้บริการทั้งหมด เยี่ยมมาก
โดยในปัจจุบันรถเมล์แบบ Circular Bus นั้นเหลือให้บริการเพียง 3 สายเท่านั้นคือสาย 01, สาย 8001 (วิ่งเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์)ให้บริการย่าน Namsan Tower, City Hall, Chungmuro และสาย A01 ให้บริการรอบๆ พระราชวังคยองบกกุง
6. Late Night Bus
Late Night Bus หรือ 심야버스 ชิมยาบอซึ คือรถเมล์ที่ให้บริการในช่วงกลางคืนดึกๆ หรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็น Owl Bus หรือรถบัสนกฮูก จะเป็นรถเมล์ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนยาวไปจนถึงราวๆ ตี 5 เหมาะสำหรับใครที่ใช้ชีวิตยามค่ำคืนแล้วอยากจะใช้บริการขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาที่รถไฟใต้ดินปิดให้บริการไปแล้ว ก็จะมี Late Night Bus นี่แหละครับที่คอยให้บริการอยู่
โดยสายรถเมล์ของ Late Night Bus จะขึ้นต้นด้วยตัว N ตามด้วยเลขหมายเลขพื้นที่ต้นทางและหมายเลขพื้นที่ปลายทาง ตามตาราง Regional Area Code ด้านบน เช่น สาย N75 ก็คือรถเมล์ Late Night Bus ที่วิ่งจากโซน 7 Jingwan-dong เขต Eunpyeong ลงมาด้านล่างของเมืองที่โซน 5 Sillim-dong เขต Gwanak เป็นต้น
7. Local Bus
Local Bus หรือ 마을버스 มาอิลบอซึ คือรถเมล์ที่ทำหน้าที่เป็น Last/First Mile Transportation คือจะพาผู้โดยสารวิ่งเข้าตามตรอกซอกซอยลึก หรือขึ้นไปตามเนินเขาที่เป็นย่านเขตที่อยู่อาศัย เพื่อให้เราสามารถเดินทางกลับ/ออกจากบ้านได้อย่างสะดวก (มาอิล แปลว่าหมู่บ้าน) ก็คือเป็นรถเมล์หมู่บ้านนั่นเอง พาส่งเราถึงหน้าบ้านเลยก็ว่าได้ ส่วนมากรถเมล์ประเภทนี้จะมีลักษณะเล็กกว่ารถเมล์ทั่วไป เพื่อความคล่องตัวในการเดินทางเข้าออกตามซอยที่แคบๆ ได้ คอยเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงและป้ายรถเมล์ใหญ่ๆ ที่มีรถเมล์ประเภทอื่นๆ มาจอดได้ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนรถเพื่อต่อเข้าบ้านได้อย่างง่าย
ชื่อสายรถเมล์ประเภทนี้จะตั้งชื่อตามชื่อย่านตามด้วยหมายเลขเส้นทาง เช่น Eunpyeong 6 คือรถเมล์ Local Bus ที่วิ่งในเขตอึนพยองสาย 6 เป็นต้น ดีงามมากๆ เลยครับ คล้ายๆ กับรถกะป้อในกทม.ที่วิ่งจากปากซอยไปสุดซอยประมาณนั้นครับ แต่มีความปลอดภัยและทันสมัยกว่ามาก
ราคาค่าโดยสารรถเมล์ประเภทต่างๆ
สำหรับราคาค่าโดยสารประเภทต่างๆ จะราคาไม่เท่ากัน จะมีค่าเริ่มต้นราคาหนึ่งในระยะทาง 10km แรก และเพิ่มขึ้น 100 วอนในทุกๆ 5 km ที่เพิ่มขึ้นครับ แต่ราคาค่าโดยสารนั้นค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพครับ นั่งได้สบายๆ ทุกคนทุกอาชีพครับ ยกเว้นแต่ Airport Bus ที่จะราคาแพงกว่ารถบัสประเภทอื่นๆ หน่อยขึ้นกับแต่ละเส้นทางที่จะราคาไม่เท่ากัน เพราะรถบัสสนามบินวิ่งระยะทางค่อนข้างไกลครับ
ช่วงนี้รถเมล์หลายๆ สายในกรุงโซลจะเริ่มมีการติดป้ายหน้ารถเขียนว่า 현금 없는 버스 อ่านว่าฮยอนกึม ออพนึน บอซึ ซึ่งแปลว่า รถเมล์ที่ไม่รับเงินสด (Cashless Bus) แล้วนะครับ (เช่นรถเมล์สาย 5712 ด้านบน) ดังนั้นถ้าเราเจอป้ายติดหน้ารถเมล์แบบนี้แปลว่าเมื่อเราขึ้นไปจะต้องจ่ายค่าใช้บริการด้วยบัตรโดยสารเท่านั้นนะครับ เข้าใจว่าในอนาคตอาจมีการยกเลิกการรับจ่ายด้วยเงินสดก็เป็นไปได้ครับ (เพราะจ่ายด้วยบัตรยังไงก็ถูกกว่าอยู่แล้ว)
การใช้บริการรถเมล์ในโซลให้คุ้มค่า
นอกจากราคารถเมล์ปกติแล้ว ที่เกาหลีจะมีอีกระบบที่ทำให้การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนของเราคุ้มค่ามาก นั่นก็คือระบบ 환승 ฮวันซึง หรือชื่อเต็มๆ คือ 수도권 통합환승할인제도 แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Metropolitan Integrated Transfer Discount System คือระบบส่วนลดค่าแรกเข้าใช้บริการเมื่อมีการเปลี่ยนโหมดการใช้งานบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ ในเขตเมือง
ซึ่งกฎนี้มันดียังไง? ก็คือเมื่อเรามีการเปลี่ยนโหมดการเดินทางจากโหมด 1 ไปโหมด 2 ภายใน 30 นาที เราจะเสียบริการค่าแรกเข้าครั้งเดียวที่ระบบแรก (นับค่าบริการที่สูงที่สุด) เช่นสมมติว่าเราเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วเปลี่ยนไปต่อรถเมล์เพื่อกลับบ้านภายใน 30 นาที (ช่วงเวลาเปลี่ยนโหมด) เราจะเสียค่าเดินทางแค่ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น ส่วนค่ารถเมล์นั้นจะนั่งฟรีไปเลย ในกรณีใช้บริการไม่เกินค่าส่วนต่างค่าแรกเข้า หรืออาจจะเสียเพิ่มนิดหน่อยเท่านั้นตามค่าบริการเพิ่มตามระยะทางที่เพิ่มเข้ามา 100 วอนในทุกๆ 5km เท่านั้นเอง ซึ่งมันดีมากๆ
การใช้งานฮวันซึงนี้จะใช้ได้กับการจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรโดยสารเช่นบัตร T-Money เท่านั้นจะไม่สามารถใช้งานได้เมื่อเราจ่ายด้วยเงินสด เป็นการจูงใจให้คนลดการใช้เงินสดแบบทางอ้อมที่ดีมากๆ แต่เราจะต้องใช้บัตรแตะขึ้นและลงจากรถโดยสารสาธารณะให้ครบถ้วนด้วยนะครับ เช่นขึ้นรถเมล์ก็ต้องแตะตอนเข้าและตอนลงก็จะต้องแตะบัตรอีกหนึ่งทีเพื่อให้ระบบบันทึกการใช้งานของเราได้อย่างถูกต้องครับ
โหมดการเดินทางในที่นี้ก็คือใช้ได้กับรถเมล์เกือบทุกประเภทในโซล (ไม่รวม Airport Bus) และรถไฟใต้ดินเกือบทุกสายในโซลครับ จะเปลี่ยนจากรถเมล์เป็นรถเมล์ หรือรถไฟเป็นรถไฟก็ได้เช่นเดียวกัน ใช้งานได้สูงสุด 5 โหมด หรือนับเป็นการ Transfer ที่จะใช้กฎฮวันซึงได้สูงสุด 4 ครั้งนะครับ
ช่วงเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนโหมดนั้นโดยปกติจะอยู่ที่ภายใน 30 นาทีถ้าใช้เวลานานกว่านั้นจะต้องเสียค่าแรกเข้าใหม่ และถ้าเป็นการเดินทางในช่วงเวลา 21:00–07:00 ของวันถัดไป ช่วงเวลา Transfer จะเพิ่มเป็น 60 นาทีครับ
สรุป
หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว ทุกท่านก็น่าจะได้รู้ว่ารถเมล์ที่ให้บริการอยู่ในกรุงโซลนั้นมีกี่ประเภท และแต่ประเภทนั้นแตกต่างกันอย่างไร ผมเชื่อว่ากรุงโซลเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะระบบรถเมล์ที่ช่วยพาเราเดินทางไปได้ในทุกๆ ที่จริงๆ ไม่ว่าบ้านคุณจะอยู่ซอยลึกแค่ไหนก็ไปถึงได้ ช่วยให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการก่อมลพิษในเมือง และช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดในเมืองได้ดีมาก และการจัดการระบบขนส่งต่างๆ เหล่านี้ถูก Operate โดย Seoul Metropolitan Government หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ คล้ายๆ กับกรุงเทพมหานครนั่นเอง ไม่ต้องพึ่งการการจัดการจากรัฐบาลส่วนกลางเลย ซึ่งเป็นวิธีการกระจายอำนาจที่ดีมากๆ และยังมีการจูงใจสร้างระบบฮวันซึงซึ่งยิ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนอยากใช้งานระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าใช้บริการซ้ำซ้อน ผมเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้วิธีการจัดการดีๆ แบบนี้ได้และอยากให้นำมาปรับใช้ที่เมืองไทยบ้างนะครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังมีแพลนจะไปเที่ยวเกาหลีกันไม่มากก็น้อยนะครับ Happy Travel!